โครงการประชุมวิชาการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 3 และระดับนานาชาติครั้งที่ 13 และการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 4

หลักการและเหตุผล

การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เป็นครั้งแรก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) นี้ นับเป็นปีที่ 13 ซึ่งตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่าย และได้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยสถาบันการศึกษาในเครือข่ายฯ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) และมีการผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการตามมติที่ประชุมเครือข่ายฯ ในแต่ละปี เพื่อร่วมกันจัดประชุมให้สมาชิกได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นอกจากนี้ การบูรณาการศาสตร์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้แนวคิด “ของดีบ้านฉัน” โดยมุ่งหวังเป้าหมายสูงสุดคือให้เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยนี้ เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนความดีงาม และสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ตลอดจนการใช้องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมส่งเสริมเพื่อการบริหารจัดการด้านวัฒนธรรมและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ สู่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) คือ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คนไทยมีความสุข ในสังคมที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม และยังสามารถผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

ในฐานะที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุง สืบสานศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในการจัดโครงการประชุมวิชาการเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ระดับชาติ ครั้งที่ 3 และระดับนานาชาติครั้งที่ 13 ในระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ “พหุวัฒนธรรมไร้พรมแดน : ส่งเสริมสู่ระดับชาติ สร้างสรรค์สู่ระดับโลก Multicultural Beyond Frontier : Promoted to the National Level Created to a World-Class Scale” เพื่อเป็นเวทีสำหรับนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระหว่างคณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา รวมถึงผู้สนใจทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยสอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาซึ่งตั้งอยู่ ณ ท่ามกลางนครประวัติศาสตร์อันเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกที่มีอายุยาวนานถึง 673 ปีจวบจนปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอันเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ เป็นจุดหมายปลายทางการที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

วัตถุประสงค์โครงการ

1.เพื่อเป็นเวทีระดับชาติและนานาชาติในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ บทความวิชาการ บทความวิจัย และผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมของอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และประชาชน
2.เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและนอกกลุ่มประเทศอาเซียน
3.เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายในการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมร่วมกันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
4.เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยใช้นวัตกรรมและภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สังคมในระดับชาติและนานาชาติ

กลุ่มเป้าหมาย

คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และประชาชน ในเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 400 คน

ระยะเวลาและสถานที่จัดงาน

ระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หน่วยงานดำเนินการ

เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าภาพหลัก

ช่องทางการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน

1.เผยแพร่ผลงานบทความฉบับเต็ม (Full Paper) ในเอกสารประกอบการประชุม (Proceeding) บนเว็บไซต์งานประชุมวิชาการ
2.ผู้นำเสนอผลงานวิชาการจะได้รับรูปเล่มเอกสารประกอบการประชุม (Proceeding)