กิจกรรมนักศึกษา

กิจกรรมนักศึกษา (Student Activity) เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนานักศึกษา มีความสำคัญต่อ การพัฒนาและเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักศึกษาให้มีความสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาเพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพ และการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

H. Stroup (Stroup 1964 (52-53) ได้กล่าวไว้ว่า สถาบันการศึกษาจัดให้มีงานกิจกรรมนักศึกษาขึ้น เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐานของสถาบันในการผลิตบัณฑิตแต่ละคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์

กิจกรรมนักศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปกับการเรียนการสอนที่มีอยู่ในหลักสูตรและจากปรัชญาการศึกษา ตามแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่ว่า การศึกษา คือ การรวบรวมประสบการณ์อันเป็นผลพวงมาจากการที่นักศึกษา มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายในสถาบันการศึกษา

ดังนั้น กิจกรรมนักศึกษาทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในหลักสูตร (Class Activities) กิจกรรมเสริมหลักสูตร (Extra-Curriculum Activities) หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extra-Class Activities) จึงถือเป็นการให้การศึกษาแก่นักศึกษา และช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ ประสบการณ์ทักษะใน การทำงาน และการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีและมีความสุข

กองพัฒนานักศึกษา มีแนวทางในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษาตั้งแต่แรกเข้าจนสำเร็จการศึกษา ดังนี้

คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ตามกรอบคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF)

1. ด้านคุณธรรมจริยธรรม

สามารถจัดการปัญหาคุณธรรม จริยธรรม และวิชาชีพโดยใช้ดุลยพินิจทางค่านิยม ความรู้สึกของผู้อื่นค่านิยมพื้นฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ แสดงออกเป็นพฤติกรรมทางคุณธรรม และจริยธรรม อาทิ มีวินัย มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดีเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลก เป็นต้น

2. ด้านความรู้

มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ตระหนัก รู้หลักการและทฤษฎีในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับหลักสูตรวิชาชีพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าของความรู้เฉพาะด้านในสาขาวิชาและตระหนักถึงงานวิจัยในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและการต่อยอดองค์ความรู้ส่วนหลักสูตรวิชาชีพ ที่เน้นการปฏิบัติและจะต้องตระหนักในธรรมเนียมปฏิบัติ กฎระเบียบข้อบังคับ ที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

3. ด้านทักษะทางปัญญา

สามารถค้นหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจและสามารถประเมินข้อมูลแนวคิดและหลักฐานใหม่ๆ จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และใช้ข้อมูลที่ได้ในการแก้ไขปัญหาและงานอื่น ๆ ด้วยตนเอง สามารถศึกษาปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความรู้ทางภาคทฤษฎีประสบการณ์ทางภาคปฏิบัติและผลกระทบจากการตัดสินใจสามารถใช้ทักษะและความเข้าใจอันถ่องแท้ในเนื้อหาสาระทางวิชาการและวิชาชีพ สำหรับหลักสูตรวิชาชีพ นักศึกษาสามารถใช้วิธีการปฏิบัติงานประจำและ แนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

4. ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ

มีส่วนช่วยและเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาในกลุ่มได้ อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือสมาชิกของ กลุ่มสามารถแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนและต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหามีความคิดริเริ่มในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของตนเองและของกลุ่มรับผิดชอบใน การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งพัฒนาตนเองและอาชีพ

5. ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

สามารถศึกษา และทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาสามารถเลือกประยุกต์ใช้เทคนิคทางสถิติหรือคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมในการศึกษาค้นคว้า และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผล แปลความหมาย และนำเสนอข้อมูลสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการพูด การเขียน สามารถเลือกใช้รูปแบบของ การนำเสนอที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันได้

ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา

ตัวบ่งชี้ที่ 1.4 การบริการนักศึกษาระดับปริญญาตรี

  1. จัดบริการให้คำปรึกษาแนะแนวการใช้ชีวิต และการเข้าสู่อาชีพนักศึกษาในสถาบัน
  2. มีการให้ข้อมูลของหน่วยงานที่ให้บริการ กิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตร แหล่งงานทั้งเต็มเวลาและนอกเวลาแก่นักศึกษา
  3. จัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมเพื่อการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษาแก่นักศึกษา
  4. ประเมินคุณภาพของการจัดกิจกรรมและการจัดบริการในข้อ 1 - 3 ทุกข้อไม่ต่ำกว่า 3.51 จากคะแนนเต็ม 5
  5. นำผลการประเมินจากข้อ 4 มาปรับปรุงพัฒนาการให้บริการและการให้ข้อมูลเพื่อส่งให้ ผลการประเมินสูงขึ้นหรือเป็นไปตามความคาดหวังของนักศึกษา
  6. ให้ข้อมูลและความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ศิษย์เก่า

ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 กิจกรรมพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรี

  1. จัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาในภาพตรวจของสถาบันโดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนและการจัดกิจกรรม
  2. ในแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาให้ดำเนินกิจกรรมในประเภทต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
  3. •  กิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่กำหนดโดยสถาบัน

    •  กิจกรรมกีฬาหรือการส่งเสริมสุขภาพ

    •  กิจกรรมจิตอาสาหรือรักษาสิ่งแวดล้อม

    •  กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม

    •  กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม

    •  กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาและการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

  4. จัดกิจกรรมให้ความรู้และทักษะการประกันคุณภาพการศึกษาแก่นักศึกษา
  5. ทุกกิจกรรมที่ดำเนินการ มีการประเมินผลความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมและนำ ผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานครั้งต่อไป
  6. ประเมินผลความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของแผนการจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษา
  7. นำผลการประเมินไปปรับปรุงแผนหรือปรับปรุงการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษา

กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมนักศึกษาตามเกณฑ์ การประเมินผลด้านการประกันคุณภาพการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่

  1. กิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ที่กำหนดโดยสถาบัน
  2. กิจกรรมกีฬาหรือการส่งเสริมสุขภาพ
  3. กิจกรรมจิตอาสาหรือรักษาสิ่งแวดล้อม
  4. กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม
  5. กิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม

ผู้รับผิดชอบ : พรศักดิ์ ทรัพย์สมบัติ     ตำแหน่งนักวิชาการศึกษา
ช่องทางการติดต่อ : โทร. 035-322080 หรือ 035-276-555 ต่อ 1842