ความเป็นมา

สถาบันอันเป็นที่รักของพวกเราได้ยกฐานะจาก ฝค.อย.เป็น วค.อย. เมื่อปี 2509 ดังนั้นศิษย์เก่าที่จบ ป.กศ. ต้นในปี กศ.2509 จึงถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายของ ฝค.อย.และจบป.กศ. สูงในปี กศ.2511 เป็นรุ่นแรกของ วค.อย.ด้วยและในปี 2511 ได้รวม สฝ.อย. มารวมด้วยกับ วค.อย. จึงเหลือเป็น วค.อย. แห่งเดียวและสืบต่อเนื่องมาจนถึงปี 2538 จึงได้ยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาและผู้บริหารสูงสุดเรียกตำแหน่งว่าอธิการบดีเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั้งหลายในประเทศและสามารถเปิดสอนระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้ และต่อมาในปี 2547 จึงได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในช่วงรอยต่อจาก วค.อย.เป็น สรภ.อย.ปี 2537-2538 ครูมงคลรับผิดชอบเป็นรองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมมีโอกาสร่วมทีมนำคณาจารย์และนักศึกษานาฏศิลป์ดนตรีไปส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีนาฏศิลป์ที่ประเทศอิตาลีกรุงโรมและเมืองต่างๆ บนเกาะซิซีลีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิชาการของ สรภ.อย.และเป็นตัวแทนผู้บริหารในคณะกรรมการสภาประจำสถาบัน (สปส.) ช่วงปี 2539-2544 หลังจากนี้กลับไปทำหน้าที่ประธานโปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชนและทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักวางแผนและพัฒนาช่วงรอยต่อจาก สรภ.อย. เป็น มรภ.อย. ในปี 2546-2548 และต่อมาทำหน้าที่ผู้ช่วยอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารจนเกษียณอายุราชการในปี 2552

หลังจากที่ยกฐานะจาก วค.อย.เป็น สรภ.อย.ครูมงคลต้องไปรับผิดชอบงานในฐานะผู้บริหารหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะวิชาต้องไปประชุมทั้งภายนอกภายใน สรภ.อย.และ มรภ.อย.บ่อยๆ เพื่อรับทราบนโยบายที่เกี่ยวข้องและนำมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลดีมีประสิทธิภาพแก่สถาบันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องรับผิดชอบงานหลักในหน้าที่ของความเป็นครูทั้งการสอนการดูแลการฝึกปฏิบัติวิชาชีพพัฒนาชุมชนที่เปิดสอนทั้งทีที่อยุธยาภาคปกติและกศ.บป. สอนเสาร์-อาทิตย์ ภาคกศ.บป.ที่ศูนย์อ่างทอง และนครนายกด้วย ต่อมาเมื่อมาทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงยิ่งขึ้นจึงไม่ค่อยมีเวลาไปดูการสอนและฝึกประสบการณ์แก่นักศึกษาเอกพัฒนาชุมชนและเอกอื่นๆ อย่างใกล้ชิดเหมือนสมัยที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารจึงทำให้เหินห่างกับนักศึกษาไปโดยปริยาย โดยเฉพาะช่วงที่เป็นผู้ช่วยอธิการบดี และรองอธิการบดีต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงานสภามหาวิทยาลัยและเลขานุการในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยต้องจัดทำเอกสารการประชุมสภาให้ถูกต้องชัดเจนเรียบร้อยและต้องประสานกับผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและผู้บริหารใน มรภ.อย. ตลอดจนท่านอารีย์ วงศ์อารยะ และคุณหญิงดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยสืบเนื่องต่อกันมารวมทั้งกำกับดูแลสถานที่ประชุม อาหารน้ำดื่มต่างๆ ให้เรียบร้อย ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูกศิษย์ช่วงหลังๆ เท่าที่ควรจึงเหินห่างกันไม่เหมือนในช่วงที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารที่ใกล้ชิดสนิทสนมเพราะได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน